ฮกเกี้ยน

“ฮกเกี้ยน” ชาวจีนกลุ่มแรกที่เข้ามาบนแผ่นดินสยาม

 

คนไทย  คนจีน  หรือคนไทยเชื้อสายจีน  ล้วนผูกพันและผสมผสานกลมกลืนกระทั่งเปลี่ยนผ่านถ่ายเทวัฒนธรรมซึ่งกันและกันมายาวนานจนกลายเป็นหนึ่งเดียวกัน  ด้วยว่าเมื่อคนจีนไปตั้งรกรากที่ใดมักรู้คุณค่าและเคารพผู้คนดั้งเดิมเสมอ  เมื่อมีการแต่งงานระหว่างคนจีนกับคนพื้นที่จึงกลายเป็นความงดงามทางวัฒนธรรม  อีกทั้งความกตัญญูรู้คุณบรรพชนของตนก็ยิ่งส่งเสริมให้วิถีดั้งเดิมคงอยู่

ในปัจจุบันเรามักนึกถึงคนจีนในฐานะพ่อค้าผู้มั่งคั่งหรือเจ้าสัวผู้มีต้นตระกูลหอบเสื่อผืนหมอนใบลงเรือสำเภามาแสวงหาโชคในแผ่นดินสยาม  แต่ภาพการรับรู้เหล่านี้อาจชัดเจนแจ่มชัดเฉพาะเพียงสมัยต้นรัตนโกสินทร์ดังที่รับทราบจากตระกูลคนไทยเชื้อสายจีนระดับเจ้าสัวมากมาย  ทว่าหากศึกษาลึกลงไปกว่านั้นจะพบว่าคนจีนเข้ามาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาและคนจีนกลุ่มแรกที่เข้ามาในแผ่นดินสยามด้วยความสามารถทางการเดินเรือตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาคือชาวจีน “ฮกเกี้ยน”  จากมณฑลฝูเจี้ยนนั่นเอง

ย้อนกลับไปหลายร้อยปีก่อนขณะที่กรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี  ความเจริญทางเศรฐกิจ  การค้าขายต่างๆบนแผ่นดินนี้เปิดเสรี  และมีหลักฐานว่าชาวจีนได้ทำการติดต่อค้าขายกับสยามมานานปรากฏหลักฐานชัดเจนในสมัยอยุธยา  เนื่องจากสภาพภูมิศาสตร์และภูมิอากาศทางมณฑลฝูเจี้ยนเป็นกึ่งเขตร้อนและมีพายุเกิดขึ้นทุกปี  นอกจากนี้มณฑลนี้ยังมีเมืองท่าสำคัญสองเมืองคือ  นครฝูโจว(ฮกจิ๋ว) และ นครเซี่ยเหมิน(เอ้หมิง)  การเป็นเมืองท่าสำคัญที่มีชื่อเสียงในการค้าขายกับต่างประเทศนี้ส่งผลให้ชาวจีนฮกเกี้ยนมีความรู้ความชำนาญในการต่อเรืออันเป็นช่องทางสำคัญในการเดินทางไปติดต่อค้าขายกับนานาประเทศรวมถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแผ่นดินสยามด้วย

ความสามารถในการเดินเรือ  ต่อเรือและค้าขายเป็นที่ต้องการจากราชสำนักอยุธยาทำให้ชาวจีนฮกเกี้ยนเข้ามาจำนวนมากในสมัยกรุงศรีอยุธยาโดยเฉพาะรัชสมัยของสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง  ซึ่งการค้าขายอาจปัจจัยสำคัญที่ทำให้ชาวจีนฮกเกี้ยนเข้ามาตั้งถิ่นฐานในสมัยอยุธยา

แม้ว่าการตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนของชุมชนคนจีนในสมัยกรุงศรีอยุธยาไม่ได้กล่าวแยกเป็นกลุ่มภาษาพูดอย่างชัดเจน  แต่ก็สามารถสันนิษฐานได้จากภาพรวมของชาวจีนว่าอาศัยรวมกันเป็นกลุ่มในย่านชาวจีน  ซึ่งในที่นี้ย่อมหมายรวมถึงชาวจีนฮกเกี้ยนด้วย ดังจะเห็นได้จากตำแหน่ง “หลวงโชฎึกราชเศรษฐี”  ขุนนางในสมัยกรุงศรีอยุธยาผู้ซึ่งพระมหากษัตริย์ตั้งให้เป็นผู้ปกครองบรรดาชาวจีนด้วยกันก็เป็นชาวจีนฮกเกี้ยน  กระนั้นก็ตามการเข้ามาอาศัยอยู่ในแผ่นดินสยามตลอดจนการค้าขายต่างๆก็ไม่ได้มีแต่เพียงราชอาณาจักรอยุธยาเท่านั้น  เพราะยังมีชาวจีนฮกเกี้ยนบางส่วนที่เดินทางไปตั้งถิ่นฐานบริเวณภาคใต้ฝั่งตะวันออกของสยามมาตั้งแต่สมัยอยุธยา  เนื่องจากการเดินทางจากจีนมายังสยามต้องอาศัยลมตามฤดูกาลซึ่งทำให้เรือต้องแวะบริเวณภาคใต้ฝั่งตะวันออกตั้งแต่ไชยาลงไปทางทิศใต้ถึงปัตตานี  เรียกได้ว่าชาวจีนเดินทางมาตั้งรกรากบนแผ่นดินสยามเป็นเวลายาวนานนับเนื่องถึงปัจจุบันทีเดียว

ด้วยปัจจัยหลายประการที่ส่งผลให้ชาวจีนฮกเกี้ยนเดินทางมาในแผ่นดินสยามตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาแม้ว่าการเดินทางมายังราชสำนักได้เลือนหายไปตามยุคสมัยด้วยเหตุผลทางการเมืองและเศรษฐกิจ  เพราะในสมัยกรุงธนบุรีก็ปรากฏหลักฐานว่ากลุ่มชาวจีนที่เดินทางมาตั้งรกรากบนแผ่นดินสยามเป็นจำนวนมากคือกลุ่มแต้จิ๋ว  ด้วยสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกับสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชผู้ทรงมีเชื้อสายจีนแต้จิ๋ว  แต่ก็มิได้หมายความว่าบทบาทของชาวจีนฮกเกี้ยนจะหมดไปจากราชสำนักไทยเพราะยังปรากฏตำแหน่งขุนนางในสมัยรัตนโกสินทร์อีกหลายท่านที่สืบวงศ์มาจากชาวจีนฮกเกี้ยน

นอกจากนี้การเดินทางมาเพื่อการค้าโดยทางเรือก็ยังดำเนินต่อไปโดยเฉพาะทางภาคใต้ที่มีกลุ่มชาวจีนฮกเกี้ยนเดินทางมาลงหลักปักฐานมากมาย  แม้การเดินทางมายังแผ่นดินสยามในยุคหลังจะผ่านมาทางสิงคโปร์เนื่องด้วยการเดินเรือกลไฟจากเซี่ยเหมินไปสิงคโปร์และมนิลา

ปัจจุบันลูกหลานจีนฮกเกี้ยนที่บรรพบุรุษได้ตั้งรกรากบนผืนแผ่นดินไทยได้กระจายทั่วไปตามภูมิภาคต่างๆในประเทศไทย  ทว่าปรากฏจำนวนมากทางภาคใต้ไม่ว่าจะเป็น  จังหวัดระนอง  จังหวัดสงขลา  โดยเฉพาะจังหวัดภูเก็ต  ซึ่งส่วนใหญ่ได้ประกอบอาชีพการทำเหมืองแร่ดีบุก  อีกทั้งการแต่งงานระหว่างบุรุษจีนฮกเกี้ยนและสตรีพื้นเมืองทางภาคใต้ก็ได้ก่อกำเนิดลูกหลานเชื้อสายผสมซึ่งได้รับการเรียกขานว่า “บ้าบ๋า”

จากการเดินทางเพื่อติดต่อค้าขายกระทั่งกลายเป็นการลงหลักปักฐาน ถือได้ว่าคนไทยและคนจีนฮกเกี้ยนนั้นมีความใกล้ชิดกันไม่จากต่างคนไทยและคนจีนเชื้อสายอื่นๆ และชาวจีนฮกเกี้ยนนับว่ามีบทบาททางสังคม  เศรษฐกิจบนแผ่นดินสยามเป็นอย่างมาก  แม้ผ่านกาลเวลาอันเนิ่นนานนับตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา  กรุงธนบุรี  จวบจนกรุงรัตนโกสินทร์  แต่ลูกหลานชาวจีนฮกเกี้ยนบนผืนแผ่นดินไทยในปัจจุบันก็ยังคงเป็นส่วนหนึ่งที่มีบทบาทในสังคมและเศรษฐกิจไทย

 

เอกสารอ้างอิง

เพ็ญพิสุทธิ์  อินทรภิรมย์. (2550). ชาวจีนฮกเกี้ยนในสมัยรัตนโกสินทร์: จำนวนเปลี่ยนแปลง  แต่บทบาทมิได้เปลี่ยนไป ใน สุธาชัย  ยิ้มประเสริฐ, สายธารแห่งอดีต รวมบทความทางประวัติศาสตร์เนื่องในวาระครบ 60 ปี ศ.ดร. ปิยนาถ  บุนนาค (หน้า 410-451). พี  เพรส  จำกัด: ภาควิชาประวัติศาสตร์  คณะอักษรศาสตร์  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ก.ศ.ร.  กุหลาบ  กฤษณานนท์. (2463). ประวัติย่อตามลำดับตำแหน่งยศ. ม.ป.ท: ม.ป.ป.