หลวงอนุภาษภูเก็ตการ

หลวงอนุภาษภูเก็ตการ

วัยเด็ก- ตันจิ้นหงวน เกิดเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2431 บิดาชื่อนายเซ็กอุด (พระจีนเสื้อดำ) เป็นชาวจีนฮกเกี้ยนซึ่งอพยพมาอยู่ในเมืองไทยตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 จากนั้นย้ายไปที่ตำบลกะไหล  จังหวัดพังงา  มารดาชื่อนางขอมเป็นคนพังงา  บิดามารดาของตันจิ้นหงวนมีบุตรรวมทั้งสิ้น 6 คน แต่บิดาเสียชีวิตเมื่อตันจิ้นหงวนอายุเพียง 9 ขวบ  เขาจึงอยู่กับมารดาและพี่น้อง

การศึกษา– ตันจิ้นหงวนได้เข้าเรียนหนังสือที่วัดกลางหรือปัจจุบันคือวัดมงคลนิมิตรกับท่านเจ้าคุณพระวิสุทธิวงศาจารย์ญาณมุนี(เพลา)กระทั่งอ่านออกเขียนได้  จากนั้นเมื่ออายุ 14 ปี พี่ชายได้ส่งไปศึกษาต่อที่ประเทศจีน ระยะหนึ่งจึงกลับมาเมืองไทย

ก่อร่างสร้างตัว–  เมื่อกลับมาจากเมืองจีนในระยะแรกตันจิ้นหงวนได้ช่วยพี่ชายทำเหมืองแร่ดีบุก  ต่อมาเมื่อมีความรู้ความสามารถจึงขอแยกตัวมาทำกิจการเหมืองกับเพื่อนๆ 4-5 คน โดยวิธีเหมืองหาบและประสบความสำเร็จมาก  แม้ว่าต่อมาได้มีปัญหาจนถึงกับสิ้นเนื้อประตัวหากแต่ท่านมุ่งหน้าทำต่อไปอย่างไม่ย่อท้อและได้เปลี่ยนวิธีการทำเหมืองไปเรื่อย ๆ จากเหมืองหาบเปลี่ยนเป็นเหมืองแล่น ต่อมาจึงได้ทำเหมืองรู (เหมืองปล่อง) ซึ่งในการทำเหมืองรูนี้ท่านลงไปหาสายแร่ดีบุกด้วยตนเอง จนกระทั่งเทียนดับซึ่งหมายถึงว่าไม่มีอากาศอยู่ในอุโมงค์แล้ว  แม้ว่าทำให้เกือบเสียชีวิตแต่ด้วยความพยายามหาความรู้ในการทำเหมืองอย่างไม่ย่อท้อ ท่านจึงได้เดินทางไปยังมาเลเซียเพื่อดูกิจการทำเหมืองสูบ จากนั้นกิจการทำเหมืองสูบของท่านได้เริ่มเปิดดำเนินการเมื่อ พ.ศ.2470 ที่ตำบลวิชิต(ระเงง)แม้การทำเหมืองสูบครั้งนี้ไม่ได้ผลแต่ท่านกลับไม่ย่อท้อและยังคงพยายามหาทางใหม่ด้วยการซื้อเครื่องกำเนิดไฟฟ้ามาลอง ผลิตไฟฟ้าแทนเครื่องยนต์อันทำให้สามารถลดต้นทุนการผลิตลงได้ เมื่อทดลองแล้วเห็นว่าน่าจะได้ผล  ดังนั้นในวันที่ 9 มกราคม พ.ศ.2473 โรงไฟฟ้าจึงได้ทำพิธีเปิดการจ่ายกระแสไฟฟ้าสำหรับใช้ทำเหมืองสูบแทนเครื่องยนต์ โดยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ  เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์  กรมพระนครสวรรค์วรพินิจ ทรงเสด็จมาเป็นองค์ประธานและทรงลงลายพระหัตถ์ประธานชื่อเหมืองสูบที่ใช้ไฟฟ้าในการทำเหมืองว่า “เหมืองเจ้าฟ้า” ไว้เป็นที่ระลึก

เนื่องจากท่านเป็นผู้ที่ชอบใฝ่หาความรู้ในการทำงาน ดังนั้นเมื่อเหมืองสูบเจ้าฟ้าสำเร็จลุล่วงไปด้วยดีแล้ว ประกอบทั้งท่านเดินทางไปปีนังเป็นประจำ และได้เห็นกิจการเหมืองเรือขุดแร่ ดังนั้นในปี พ.ศ.2481 ท่านจึงได้ซื้อเรือขุดแร่จากประเทศมาเลเซียมาทำการเปิดเหมืองเรือขุด ณ บ้านหินลาด จังหวัดพังงา นับเป็นคนไทยคนที่ 2 รองจากพระอร่ามสาครเขตรที่มีเรือขุดของตัวเอง

ในการทำเหมืองมีความจำเป็นต้องใช้อุปกรณ์ต่างๆ และต้องซื้อจากที่อื่น เพื่อให้งานเดินไปอย่างรวดเร็วจึงได้เปิดแผนกเสริม  คือ โรงหล่อกลึง  โรงเลื่อยไม้ และโรงงานไม้แปรรูป โรงสีข้าว เพื่อให้คนงานเหมืองทาน โรงน้ำแข็ง และแผนกอื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับแผนกการทำเหมือง คือ โรงทำสบู่ โรงทำสุรา สวนยาง สวนมะพร้าว เรือเดินทะเล ภูเก็ต-กันตัง

บรรดาศักดิ์- นอกจากความมุ่งมั่นอุตสาหะในการทำงานอย่างตั้งใจแล้วในด้านสังคมนายตันจิ้นหงวนได้บำเพ็ญสาธารณประโยชน์มากมาย เช่น  ยกที่ดินเพื่อสร้างโรงเรียนบ้านสวนมะพร้าว ซึ่งปัจจุบันชื่อโรงเรียนหงษ์หยกบำรุง สร้างวัดที่ตำบลกะทู้  ชื่อวัด อนุภาษกฤษฎาราม ยกที่ดินให้สร้างโรงพยาบาลมิชชั่น   และในส่วนที่ไม่มีอนุสรณ์นั้นด้วยการบริจาคเงินช่วยเหลือราชการเป็นจำนวนมาก  และหลายครั้ง  เป็นผู้ก่อตั้งสมาคมอุตสาหกรรมเหมืองแร่  มีีท่านเป็นนายกอุตสาหกรรมเหมืองแร่ ในปี พ.ศ. 2474 ท่านจึงได้รับบรรดาศักดิ์เป็น “หลวงอนุภาษภูเก็ตการ”

ในปีพ.ศ. 2496 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นจัตุรถาภรณ์ช้างเผือก (จ.ช.)แก่หลวงอนุภาษภูเก็ตการ

ชีวิตครอบครัว- หลวงอนุภาษภูเก็ตการสมรสกับนางหลุ่ยฮุ่น ในปี พ.ศ.2446 ซึ่งมีอายุ  27 ปี  ขณะนั้นท่านยังเพิ่งเริ่มตั้งตัวยังไม่ถึงกับเป็นผู้มีฐานะ และบางครั้งก็ถึงกับสิ้นเนื้อประดาตัวแต่คุณนายหลุ่ยฮุ่นก็เป็นภรรยาคู่ทุกข์คู่ยากอย่างแท้จริงโดยตลอดมา เนื่องจากท่านมีโรคประจำตัวจึงเสียชีวิตลงเมื่อ พ.ศ. 2496 ท่านทั้งสองมีทายาทด้วยกัน 10 คน  รวมทั้งบุตรชายที่เสียชีวิตตั้งแต่เยาว์วัยจึงเหลือทายาท 9 คนคือ

  1. นางยุพา หงษ์หยก (ถึงแก่กรรม) สมรสกับ นายซุ่นเซ่งกอก (ถึงแก่กรรม)
  2. นายวิรัช หงษ์หยก (ถึงแก่กรรม) สมรสกับ นางบุญศรี(สก๊อต)
  3. นายวีระพงษ์ หงษ์หยก (ถึงแก่กรรม) สมรสกับ นางจินตนา(แซ่จู้) (ถึงแก่กรรม)
  4. นายคณิต หงษ์หยก (ถึงแก่กรรม) สมรสกับ นางเพ็ญศรี(สวัสดิ์ภักดี) (ถึงแก่กรรม)
  5. นางยุวดี เจริญพิทักษ์ (ถึงแก่กรรม) สมรสกับนายทวี เจริญพิทักษ์ (ถึงแก่กรรม)
  6. นายเอนก หงษ์หยก (ถึงแก่กรรม) สมรสกับ นางสุกัญญา (ถึงแก่กรรม)
  7. นายณรงค์ หงษ์หยก (ถึงแก่กรรม) สมรสกับ นางเยาวลักษณ์(โภคาผล)
  8. นางยุพาวดี สมุทรอัษฎงค์ สมรสกับ นายนเรศ สมุทรอัษฎงค์ (ถึงแก่กรรม)
  9. นายสานิต หงษ์หยก (ถึงแก่กรรม) สมรสกับ นางบี้กุ่ย (ถึงแก่กรรม)

หลวงอนุภาษภูเก็ตการเป็นบิดาที่มีความยุติธรรมและรักลูกทุกคนเท่ากันไม่ว่าเป็นชายหรือหญิง  ท่านได้ส่งบุตรธิดาทุกคนไปเรียนหนังสือที่โรงเรียนที่มีชื่อเสียงยังเมืองปีนัง  ประเทศมาเลเซีย นอกจากนั้นยังได้ส่งไปเรียนที่สหรัฐอเมริกาซึ่งในสมัยนั้นนับว่าเป็นกรณีพิเศษมากเมื่อเปรียบเทียบกับลูกคนธรรมดาเพราะลูกเจ้านายเท่านั้นที่ไปศึกษานอกประเทศ เมื่อลูกๆ จบกลับมาก็ให้ไปฝึกงานจากลูกน้องจนกระทั่งขึ้นเป็นนายคนได้ ท่านมิได้ฝึกงานให้ลูกอย่างเดียว  หากแต่สั่งสอนให้รู้จักคุณค่าของเงินรู้จักเก็บออมและใช้ไปในทางที่ถูกที่ควร อีกทั้งรู้จักเสียสละเพื่อประโยชน์ส่วนรวมและส่วนท้องถิ่นซึ่งท่านได้ทำตัวอย่างโดยที่มีอนุสรณ์ เช่น ยกที่ดินเพื่อสร้างโรงเรียนบ้านสวนมะพร้าว ซึ่งปัจจุบันชื่อโรงเรียนหงษ์หยกบำรุง สร้างวัดที่ตำบลกะทู้  ชื่อวัด อนุภาษกฤษฎาราม ยกที่ดินให้สร้างโรงพยาบาลมิชชั่น   และในส่วนที่ไม่มีอนุสรณ์นั้นด้วยการบริจาคเงินช่วยเหลือราชการเป็นจำนวนมาก  และหลายครั้ง  เป็นผู้ก่อตั้งสมาคมอุตสาหกรรมเหมืองแร่  มีีท่านเป็นนายกอุตสาหกรรมเหมืองแร่ ซึ่งลูกหลานก็ได้สืบทอดเจตนารมณ์จนปัจจุบัน

บั้นปลายชีวิต- ท่านได้ใช้ชีวิตอยู่กับลูกหลานอย่างอบอุ่น ณ บ้านถนนกระบี่และเริ่มป่วยเมื่อต้นปี 2505 จึงได้เข้ากรุงเทพฯเพื่อรับการรักษา เมื่ออาการดีขึ้นก็กลับมาภูเก็ตเพื่อพักฟื้น แต่อาการไม่ดีเท่าที่ควรและจากไปอย่างสงบเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม พ.ศ.2505 รวมอายุ 74 ปี แม้ท่านได้จากไปแล้วหากความประสงค์ของในเรื่องความเป็นปึกแผ่นของครอบครัวก็ยังคงอยู่ ทั้งนี้เพราะลูกหลานมีความรักและเชื่อฟังคำสั่งสอนของท่านเป็นอย่างยิ่ง ลูกและหลานชายทุกคนก็ยังทำงานกับบริษัท อนุภาษและบุตร จำกัด และบริษัทในเครือด้วย