ท้าวเทพกระษัตรี – ท้าวศรีสุนทร  ศูนย์รวมแห่งความรักและความกตัญญูต่อแผ่นดินของชาวภูเก็ตทุกเชื้อสาย

ท้าวเทพกระษัตรี – ท้าวศรีสุนทร  ศูนย์รวมแห่งความรักและความกตัญญูต่อแผ่นดินของชาวภูเก็ตทุกเชื้อสาย

ภาพอนุสาวรีย์สองวีรสตรีที่ตั้งเด่นเป็นตระหง่านเมื่อยามไปเยือนภูเก็ตคงเป็นที่คุ้นตาใครหลายคน  แม้ว่ามีอีกหลายคนที่ผ่านไปมาโดยมิได้สนใจประวัติเรื่องราวของท่านทั้งสองก็ตาม  แต่ไม่ว่าอย่างไรตำนานที่ท่านได้สร้างขึ้นก็เป็นที่จดจารในใจลูกหลานชาวภูเก็ตมาจนถึงปัจจุบัน

ท้าวเทพกระษัตรีและท้าวศรีสุนทร  หรือท่านผู้หญิงจันและคุณมุกเป็นสองพี่น้องที่กระทำคุณูประการต่อแผ่นดินถลางในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์  ท่านผู้หญิงจันเป็นบุตรสาวคนโตของจอมร้างอันเป็นชื่อตำแหน่งผู้สำเร็จราชการหัวเมืองสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ  มารดาของท่านคือวันมาเรี้ยเป็นเจ้าหญิงแห่งไทรบุรีซึ่งคำว่า​ “วัน” หมายถึงเจ้าหญิง  ท่านผู้หญิงจันได้สมรสกับเจ้าเมืองถลาง  สมัยรัชกาลที่๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์สามีของท่านได้ถึงแก่กรรมแล้ว  ท่านผู้หญิงจันได้รวบรวมพลเมืองผู้รักชาติทั้งฝ่ายข้างมารดาคือวันหม่าเรี้ยซึ่งเป็นมุสลิม  และฝ่ายข้างบิดาคือจอมร้างอดีตเจ้าเมืองผู้สร้างเมืองถลางเข้าต่อสู้กับพม่าจนได้รับชัยชนะ

ส่วนท้าวศรีสุนทรหรือคุณมุกเป็นน้องสาวของท่านผู้หญิงจันนั้นข้อมูลทางประวัติศาสตร์ยังไม่ระบุแน่ชัดเกี่ยวกับตัวท่านนัก  บ้างก็ว่าท่านสมรสกับพระปลัดแต่ไม่มีบุตรด้วยกัน  บางส่วนก็กล่าวว่าท่านมิได้สมรส  เรื่องราวที่ปรากฏต่อการรับรับของคนรุ่นหลังส่วนใหญ่จึงมีเพียงเรื่องของท้าวเทพกระษัตรีเป็นส่วนใหญ่

วีรกรรมของสองวีรสตรีที่ชาวภูเก็ตและคนไทยรับรู้ก็คือการที่ท่านเกณฑ์ไพร่พลมาตั้งค่ายต้านทัพพม่าที่นำโดย    ยี่วุ่น  ฝ่ายพม่าที่ในตอนนั้นอยู่ในสมัยพระเจ้าอังวะได้ทำการยกพลไปตีหัวเมืองไทยทางด้านตะวันตกแถบแนวชายฝั่งทะเลโดยประจำการไพร่พลทั้งทางบกทางเรือที่เมืองมะริด  ก่อนที่แม่ทัพใหญ่คือแกงวุ่นแมงยี่จะให้ยี่วุ่นแม่ทัพเรือพม่าก็ยกทัพเรือลงไปตีเมืองตะกั่วป่าตะกั่วทุ่งแตก แล้วยกไปถึงเกาะถลาง ในเวลานั้นพระยาถลางถึงแก่กรรมทางเมืองถลางยังไม่ได้ตั้งเจ้าเมืองใหม่ ท่านผู้หญิงจันภรรยาพระยาถลางกับน้องหญิงคนหนึ่งชื่อมุกจึงได้คิดอ่านกับกรมการทั้งปวงเกณฑ์ไพร่พลตั้งค่ายใหญ่สองค่ายออกระดมยิงปืนใหญ่กับพม่าทุกวันเพื่อป้องกันรักษาเมือง โดยมิได้เกรงกลัวย่อท้อต่อข้าศึกแม้แต่น้อย สู้รบกันอยู่ประมาณเดือนเศษพม่าก็เลิกทัพลงเรือกลับไปเนื่องจากขาดเสบียงอาหาร

จากสงครามในครั้งนั้นทำให้เมืองถลางหรือภูเก็ตได้รับความเสียหายมากพอสมควร  ท่านผู้หญิงจันได้รับภาระในการกอบกู้สภาพบ้านเมืองโดยได้จัดหาเสบียงอาหารสำหรับชาวบ้านโดยได้มีหนังสือไปถึงพระยาราชกปิตัน หรือฟรานซิสไลท์ เจ้าเมืองปีนังแจ้งข่าวเรื่องศึกพม่า และขอความอนุเคราะห์เรื่องเสบียงอาหารของชาวเมืองที่กำลังขาดแคลนและทำการจัดหาฟื้นฟูการประกอบอาชีพโดยมีการเหมืองแร่ดีบุกเป็นหลักสำคัญ  นอกจากนั้นท่านยังได้เดินทางเข้ากรุงเทพฯ เพื่อเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชเมื่อทางเมืองหลวงคือกรุงเทพฯได้แต่งตั้งเจ้าพระยาสุรินทราชา (จันทร์ จันทโรจวงศ์) มาเป็นผู้สำเร็จราชการเมืองถลางและหัวเมืองในภาคใต้อีก ๘ หัวเมือง  ครั้งนั้นท่านได้พาบุตรสาวชื่อ ทอง เข้าถวายตัวเป็นบาทบริจาริกาโดยได้รับพระมหากรุณาให้เป็นเจ้าจอม ต่อมาได้มีพระราชธิดา ๑ องค์ พระนามว่า พระองค์เจ้าหญิงอุบล ส่วนบุตรชายคือ พระยาทุกขราษฎร์ได้รับพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นพระยาเพชรคิรีศรีพิชัยสงครามรามคำแหง เจ้าเมืองถลาง และต่อมาได้เป็นผู้ช่วยเจ้าพระยาสุรินทราชา ผู้สำเร็จราชการ ๘ หัวเมือง เพื่อแบ่งเบาภาระอีกตำแหน่งหนึ่งด้วย นอกจากนี้บุตรชายชื่อจุ้ย ได้รับการแต่งตั้งเป็นพระยายกรบัตร บุตรชายชื่อเนียม ได้ถวายตัวเป็นมหาดเล็กวังหลวง 

ถือได้ว่าท้าวเทพกระษัตรีเป็นผู้ที่มีส่วนสำคัญในการเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างส่วนกลางคือฝ่ายราชสำนักและฝ่ายท้องถิ่นคือหัวเมืองถลางให้สำเร็จอย่างแน่นแฟ้นมากขึ้นด้วย

ชาวภูเก็ตได้มีการระลึกถึงวีรกรรมของท้าวเทพกระษัตรีและท้าวศรีสุนทรโดยในวันที่ 13 มีนาคม เป็นวันถลางชนะศึกลูกหลานชาวภูเก็ตจึงได้จัดกิจกรรมเพื่อเชิดชูเกียรติประวัติของท่านให้อนุชนรุ่นหลังได้ตระหนักถึงวีรกรรมอันยิ่งใหญ่ของบรรพชนที่ได้เสียสละเลือดเนื้อ และชีวิตในการปกป้องรักษาแผ่นดินไว้  นอกจากนี้ยังมีการตั้งนามสถานที่ตั้งเมืองถลางเมื่อครั้งศึกพม่าว่า ตำบลเทพกระษัตรี และให้รวมตำบลท่าเรือ กับตำบลลิพอนตั้งเป็นตำบลชื่อว่า ศรีสุนทร 

ความกล้าหาญและเสียสละของท่านทั้งสองเป็นแบบอย่างอันงดงามที่ปรากฏต่อสายตาชาวเมืองว่าหน้าที่ในการแสดงความรักและกตัญญูต่อแผ่นดินไม่ได้จำกัดอยู่ที่เพศใดเพศหนึ่ง  หากแต่เป็นเรื่องของทุกคนดังที่ท่านทั้งสองได้แสดงให้เห็นเป็นแบบอย่างแล้ว  ดังนั้นในปีพุทธศักราช ๒๕๑๐ จึงมีการสร้างอนุสาวรีย์ของวีรสตรีแห่งเมืองถลางเพื่อเป็นเครื่องหมายและอนุสรณ์แห่งความกล้าหาญอันจะจารึกอยู่ในใจด้วยจิตอันคารวะของชาวภูเก็ตและชาวไทยไปจนตราบนานเท่านาน

 

 

เอกสารอ้างอิง

http://kanchanapisek.or.th/kp6/sub/book/book.php?book=21&chap=2&page=t21-2-infodetail02.html